เพลงกล่อมเด็กเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่เล่าต่อกันมาปากต่อปาก โดยใช้ภาษาเป็นสื่อในการสืบทอด ซึ่งมีแพร่หลายแทบทุกชาติ ทุกภาษาทั่วโลก เช่น ในแถบยุโรป อังกฤษเรียกเพลงกล่อมเด็กว่า Mother Goose ในอเมริกาเรียก Lullaby
จากหลักฐานผลงานการวิจัยของศาสตราจารย์สุทธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ พบว่า เพลงกล่อมเด็กภาคใต้ ส่วนใหญ่มิได้เกิดจากมูลเหตุเพื่อขับกล่อมเด็กให้นอนหลับเร็วและหลับสนิทเท่านั้น แต่ส่วนมากเกิดขึ้นเพราะชาวใต้นิยมเล่นเพลงกล่อมเด็กเป็นบทปฎิพากย์ร้องโต้ตอบกัน เพื่อความรอบรู้และความมีปฎิภาณไหวพริบ แก้คารมกันอย่างฉับพลัน โดยบทบาทที่โดดเด่นที่สุดของเพลงกล่อมเด็ก คือ การใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารนี้ของชาวบ้าน เพื่ออบรมสั่งสอน ปลูกฝังคุณธรรม และอนุรักษ์วัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้เพลงกล่อมเด็กเพื่อกระทบกระเทียบเหน็บแนมผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะ สังคมชนบทในอดีตมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมอยู่ในวงแคบๆ แต่ละครอบครัวยึดมั่นประเพณี ถ้าครอบครัวใดทำผิดประเพณี ก็จะถูกค่อนขอดนินทา โดยอาศัย เพลงกล่อมเด็กเป็นสื่อในการกระแนะกระแหนเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเป็นการอบรมลูกหลานไปในตัวไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งสามารถจำแนกได้ตามประเภทเนื้อหาของเพลงได้ดังนี้
1. เนื้อหาแสดงถึงความรักความห่วงใย ตัวอย่างเช่น
เพลงนอนเสียน้องนอน
ฮาเอ้อ...เหอ...นอนเสียน้องนอน นอนให้หลับดี
แม่ซื้อทั้งสี่ มาช่วยพิทักษ์รักษา
อาบน้ำป้อนข้าว รักษาเจ้าทุกเวลา
มาช่วยพิทักษ์รักษา เด็กอ่อนนอนใน...เปล...เหอ
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรักความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูก ต้องการให้ลูกนอนหลับอย่างสบาย ให้ลูกคลายกังวล เพราะเด็กจะเป็นกังวลกลัวแม่จะทิ้งให้อยู่คนเดียวไม่กล้าจะหลับ การที่แม่ว่าได้อ้อนวอนให้แม่ซื้อมาปกป้องลูกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าตนมิได้อยู่คนเดียว เมื่อเกิดมาจะมีแม่ซื้อคอยคุ้มครองอยู่ ซึ่งความเชื่อนี้ก็ยังมีความเชื่อกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้มิได้ถูกทอดทิ้ง เด็กก็จะคลายกังวลและหลับในที่สุด และยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ในเรื่องที่ว่าเด็กเมื่อเกิดมาจะมีแม่ซื้อ(เทวดา)คอยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้ได้รับอันตราย
2. เนื้อหากล่าวถึงเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ ตัวอย่างเช่น
เพลงไปคอน
ฮาเอ้อ....เหอ...ไปคอนเหอ ไปซื้อผ้าลายทองสลับ
ซื้อมาทั้งพับ สลับทองห่างห่าง
หยิบนุ่งหยิบห่ม ให้สมขุนนาง
สลับทองห่างห่าง ทุกหมู่ขุนนาง...เหอ...
สะท้อนให้เห็นถึงตลาดผ้าทอของเมืองนครศรีธรรมราชในสมัยโบราณ ว่ามีสินค้าผ้าลายทองสลับห่างๆ ที่มีฝีมืออยู่ แม้แต่ขุนนางในราชธานีก็ยังมาซื้อหาไปใช้เป็นพับๆ เป็นเครื่องบอกได้อย่างดีว่าภูมิปัญญาและช่างฝีมือในเมืองนครศรีธรรมราชได้สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนแล้ว จนกลายเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช
เพลงลูกชาวชาวปากพนัง
ฮาเอ้อ...เหอ...ลูกสาวเหอ ลูกชาวชาวปากพนัง
เอวกลมนมตั้ง นั่งทำเคยแผ่น
ปั้นให้กลมกลม ข่มให้แบนแบน
นั่งทำเคยแผ่น ลูกสาวชาวปากพนัง...เหอ
สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวปากพนังในสมัยก่อนนั้น เนื่องจากชาวปากพนังอยู่ในที่ลุ่มมีอาชีพหลักคือการทำนา และอาชีพการประมง เมื่อหาปลาตัวเล็กๆมาได้มาก ก็จะทำเคย(กะปิ)เก็บไว้กิน หรือเหลือจากกินก็จะนำไปขาย ลูกสาวชาวปากพนังทุกคนต้องทำกะปิเป็น การทำกะปิ เป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารของชาวภาคใต้อย่างหนึ่ง และบอกให้ทราบถึงลักษณะของสาวๆในสมัยโบราณที่ถือว่าสวยจะต้องมีลักษณะ “เอวกลมนมตั้ง”
3. เนื้อหาเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านหรือวรรณคดี ตัวอย่างเช่น
เพลงพระสังข์
ฮาเอ้อ...เหอ...พระสังข์เหอ สมเพทเวทนาลูกหอยสังข์
เขาเกลียดเขาชัง พระสังข์อยู่ในรูปเงาะ
คนทั้งเพเขาเดินดิน พระสังข์เนื้อนิลถือไม้เท้าเหาะ
พระสังข์อยู่ในรูปเงาะ เหาะตามนางรจนา...เหอ...
เป็นการยกนิทานพื้นบ้านมาสอน ในเรื่องของการมองคนหรือการเลือกคบคน อย่ามองคนเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก ให้มองลึกไปถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ความรู้ความสามารถของคนๆนั้นด้วย อย่างเช่นพระสังข์เป็นคนดี มีความรู้ ความสามารถ แต่ท้าวสามลไม่ชอบ เนื่องจากรูปลักษณ์ที่เห็นภายนอก เป็นคนยากจน รูปชั่วตัวดำ จึงไม่ยอมรับเป็นเขย และอีกบทหนึ่ง
เพลงนางมโนราห์
ฮาเอ้อ...เหอ...นางน้องเหอ น้องนางโนราห์
หนีพ่อแม่มา อาบน้ำในสระ
นายพรานคล้องได้ พาไปถวายพระองค์
อาบน้ำสระสรง หลงด้วยนายพรานป่า...เหอ
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของผู้ใหญ่ในสมัยโบราณ มีวิธีการสั่งสอนลูกหลานโดยการยกนิทานมาเป็นแบบอย่าง เช่น นางรจนาหนีพ่อแม่มาเล่นนำในสระโดนยานพรานจับไปถวายเจ้าเมือง คือพระสุธน จนต้องพลัดจากบ้านเมืองตนและไม่สามารถกลับบ้านได้ ซึ่งเพลงกล่อมเด็กในบทนี้สอนให้ไม่โกหกผู้ใหญ่ จะไปไหนมาไหนต้องบอกกล่าวให้ผู้ใหญ่ทราบ เกิดสูญหายหรือพลัดหลง หรือเกิดอันตรายใดๆ ผู้ใหญ่จะได้ทราบและช่วยแก้ปัญหาได้ทันเวลา
4. เนื้อหากล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น
เพลงตาแป๊ะหนวดยาว
ฮาเหอ...เหอ...ตาแป๊ะหนวดยาวเหอ ถึงคราวสิ้นทุกข์
เอาศพใส่โลงดีบุก ไปค้างในดอนดง
ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ ถือฉัตรถือธง
เอาศพไปค้างในดอนดง ค่อยปลงเมรุ...ใหญ่...เหอ
ผู้ศึกษาได้อ่านพบในหนังสือเรื่องพระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร “เพลงกล่อมเด็กโบราณ” ของ ทศยศ กระหม่อมแก้ว (2550) ซึ่งศึกษาถึงประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช โดยได้พบกับยายคร้าว พราหมณ์กุล ผู้สืบเชื้อสายสกุล”คีรีเพชร”ที่เชื่อว่าเป็นสกุลหนึ่งที่เคยเป็นองครักษ์ของพระเจ้าตากสิน และจากเนื้อเพลงท่านได้ตีความโดยการสันนิษฐานจากประวัติศาสตร์ที่ท่านเคยได้ฟังและสอบถามผู้รู้มาว่า “โลงดีบุก” เป็นเครื่องยศของคนชั้นสูงของเมืองนครศรีธรรมราชเท่านั้น เนื่องจากดีบุกมีราคาแพงและเป็นของ มีค่าที่ใช้ประกอบเครื่องยศของเจ้าเมืองประเทศราชอย่างนครศรีธรรมราช ผู้ที่บรรจุศพลงในโลงดีบุกได้ย่อมไม่ใช่คนธรรมอย่างแน่นอน และอีกท่อนที่ว่า “ลูกเจ้าจอมหม่อมลับ ถือฉัตรถือธง” นั่นแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า ผู้ตายย่อมไม่ใช่บุคคลธรรมดา เพราะมีเครื่องสูงอย่างฉัตรและธงมาประกอบในพิธี หรืออีกท่อนที่ว่า “เอาศพไปค้างไว้ในดอนดง ค่อยปลงเมรุใหญ่เหอ” นั่นสามารถตีความได้ว่า ผู้ตายมียศสูงแต่ทำไมต้องตั้งศพไว้ในป่าในดง แล้วถึงค่อยมาเผาในเมรุ จึงน่าสันนิษฐานได้ว่าเป็นศพของพระเจ้าตากสิน เพราะ ตามความเชื่อที่บอกเล่าต่อๆ กันมาว่าพระเจ้าตากสินหนีภัยการเมืองมายังเมืองนครศรีธรรมราช ถึงแม้ว่าจะยังสรุปไม่ได้ว่า ผู้ที่ตายเป็นพระเจ้าตากสินแน่นอน ก็สะท้อนให้เห็นว่าเพลงกล่อมเด็กบอกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ หรืออีกบทหนึ่งที่ว่า
เพลงเมืองนคร
ฮาเอ้อ....เหอ...เมืองนครเหอ แต่ก่อนเขาเล่าลือมา
พระยาศรีธรรมโศกราชมีวาสนา ก่อพระบรมธาตุยอดทองคำ
มีมหาชนมาบูชา ผู้คนมานับถืออุปถัมภ์
ก่อบรมธาตุยอดทองคำ เช้าค่ำให้คนมา...ไหว้...เหอ
จากบทเพลงกล่อมเด็กบทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองสมัยหนึ่งที่มีพระยาศรีธรรมโศกราชได้ตั้งบ้านเมืองและปกครองบ้านเมือง และมีความเจริญทางศาสนาอย่างสูงสุดถึงขนาดได้สร้างสถูปเจดีย์พระบรมธาตุ ที่มียอดเป็นทองคำ และมีมหาชนศรัทธามากมาย มีหลักฐานอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และอีกบทหนึ่งที่ว่า
เพลงไอ้หูก
ฮาเอ้อ...เหอ...ไอ้หูกเหอ ลูกไก่หางหลุ้น
ข้าหลวงญี่ปุ่น ชันชีจับเด็ก
จับพวกสาวสาว บ่าวบ่าวไว้ทำมหาดเล็ก
ชันชีจับเด็ก จับสิ้นทั้งเมือง...เหอ...
สะท้อนให้เห็นถึง การปกครองของนครศรีธรรมราชในยุคหนึ่งที่เป็นกลียุคที่ถูกคุกคามจากชาติญี่ปุ่น ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้ขึ้นเป็นใหญ่ เป็นเจ้าเมืองในนครศรีธรรมราช และปกครองด้วยวิธีกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างมาก โดยมีการจับเด็กสาวสาวไปเป็นนางบำเรอ และจับเด็กผู้ชายไปเป็นข้ารับใช้
5. เนื้อหากล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมและประเพณี ตัวอย่างเช่น
เพลงไปคอน
ฮาเอ้อ...เหอ...ไปคอนเหอ ไปแลพระนอนพระนั่ง
พระพิงเสาตั้ง หลังคามุงเบื้อง
เข้าไปในห้อง ไปแลพระทองทรงเครื่อง
หลังคามุงเบื้อง ทรงเครื่องดอกไม้ไหว...เหอ...
สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองนครศรีธรรมราช ในด้านศาสนาที่มีวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารอันเป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญที่สุดวัดหนึ่ง ซึ่งชาวพุทธทุกคนที่ไปเที่ยวนครศรีธรรมราชก็จะต้องแวะไปนมัสการปูชนียสถานพระบรมธาตุเจดีย์ เพราะพระบรมธาตุทุกคนเชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ และก่อให้เกิดการสร้างปูชนียวัตถุ อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาภายหลัง เช่น พระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปนอน และพระทองทรงเครื่องอันงดงามด้วยสุนทรียภาพที่ยากจะหามรดกใดในเมืองนี้มาเทียบเทียมได้
เพลงแทงต้มลากพระ
ฮาเอ้อ...เหอ...นอนเสียน้องนอน แม่ไปบ้านหัวนอนสักเดียว
ไปเซ้อสารเหนียว แทงต้มลากพระ
โถกโถกแพงแพง แม่อี้แดงมันไม่ละ
แทงต้มลากพระ ให้หนุกสักคราวเดียว...เหอ...
เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงประเพณีชักพระของจังหวัดนครศรีธรรมราชอีกประเพณีหนึ่งที่นอกจาก ประชาชนจะได้ร่วมทำบุญแล้ว ยังได้รับความสนุกสนานในงานประเพณีชักพระอีกด้วย และยังบอกให้ทราบว่าไม่ว่าของจะถูกหรือแพงอย่างไร เมื่อถึงวันลากพระประชาชนก็จะแทงต้มไปร่วมประเพณีลากพระเสมอ
6. เนื้อหากล่าวล้อเลียนเสียดสีสังคม ตัวอย่างเช่น
เพลงไก่เถื่อน
ฮาเอ้อ...เหอ...ไก่เถื่อนเหอ ขันเทือนทั้งบ้าน
ลูกสาวขี้คร้าน นอนให้แม่ปลุก
ฉวยได้ด้ามขวาน แยงวานดังพลุก
นอนให้แม่ปลุก ลูกสาวขี้คร้านงาน... เหอ
สะท้อนให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนนครในสมัยก่อนนั้น ชาวนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่ในโซนฝั่งเขา(ได้แก่ ฉวาง ทุ่งสง ทุ่งใหญ่ ลานสกา แถบนั้น)จะมีอาชีพทำสวนยางพารา จะลุกขึ้นกรีดยางตั้งแต่ตีสองตีสาม(สองนาฬิกา หรือสามนาฬิกาตอนหัวรุ่ง) ซึ่งในสมัยก่อนจะมีไก่เถื่อน(ไก่ป่า)มาก เมื่อถึงเวลาตีสองตีสามไก่จะเริ่มขันชาวบ้านก็จะตื่นออกไปกรีดยางกัน ถ้าลูกสาวบ้านไหนนอนไม่ยอมตื่นไปกรีดยาง ด้วยความขี้เกียจคอยให้แม่ปลุกก็จะถูกกระแนะกระแหนจากเพื่อนบ้าน ด้วยชาวบ้านในอดีตจะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน ไปมาหาสู่กันและกันเสมอ หรืออีกบทหนึ่ง
เพลงหมากอ่อน
ฮาเอ้อ...เหอ...หมากอ่อนเหอ ผ่าน้ำแล่นล่องทั้งสองสี
พอเยื่อพอเปลือกช่างงามดี ราศีของเจ้าไม่เศร้าหมอง
รูปร่างของเจ้าดีดัก เหตุไหรยอดรักมาดอกทอง
ราศีของเจ้าไม่เศร้าหมอง ให้คนเที่ยวมองเล่น...เหอ...
บทเพลงบทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมในสมัยก่อน ผู้หญิงที่มีชู้มีสามีทีเดียวหลายคน ซึ่งเรียกว่าเป็นคน "ดอกทอง" ก็มีให้เห็น ซึ่งสังคมจะประณามผู้หญิงประเภทนี้เช่นเดียวกันกับปัจจุบันนี้สังคมก็ยังไม่ยอมรับผู้หญิงประเภทนี้ เช่นกัน
7. เนื้อหาเป็นคติ คำสอน ตัวอย่างเช่น
เพลงนกเปล้า
ฮาเอ้อ....เหอ...นกเปล้าเหอ มันเล่านิทานกันหลอแหล
ลูกไม่ฟังแม่ ลูกเหอจะดีต่อใด
เสาเรือนไม้หมาก ฟากเรือนไม้ไผ่
ลูกเหอจะดีต่อใด เมื่อลูกไม่ตามคำแม่...เหอ...
บทเพลงบทนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเลี้ยงดูลูก ถ้าลูกคนใดไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยาก ซึ่งเป็นคำสอนที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้ได้ผลดีอยู่จนปัจจุบันนี้
รายการอ้างอิง
1. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ.วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครศรีธรรมราช : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2544.
2. เจริญศรี บุญสว่าง. วรรณกรรมพื้นบ้าน วันเปิดขุมทรัพย์วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้. สารจังหวัด
นครศรีธรรมราช. ปีที่ 36 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2549. : 64.
3. จำเริญ แสงดวงแข. โลกทรรศน์ชาวไทยภาคใต้ที่ปรากฎในเพลงกล่อมเด็ก. สงขลา : มหาวิทยาลัย
ศรีนครินทรวิโรฒสงขลา, 2523.
4. ทศยศ กระหม่อมแก้ว. พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร. : ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550.
5. มานพ แก้วสนิท. ภูมิปัญญาตายาย. 2. กรุงเทพฯ : บุ๊คแบงค์, 2545.
6. วันเนาว์ ยูเด็น. เพลงชาน้อง. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพาณิช, 2533.
7. เพลงกล่อมลูก (อัดสำเนา)
8. http://learners.in.th/blog/anne-funny/55112
9. http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/
10. http://www.vcharkarn.com/
11. http://www2.technicchan.ac.th/
วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น