ประวัติความเป็นมาของการทำขนมลา
ขนมลาเป็นขนมไทยของภาคใต้ชนิดหนึ่งในห้าชนิด คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกงหรือขนมไข่ปลา ที่ชาวใต้โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ใช้ในพิธีทำบุญวันสารทเดือนสิบ
ณรงค์ บุญสวยขวัญ กล่าวไว้ในหนังสือ เดือนสิบ”41 ว่า “ขนมลา” เป็นส่วนประกอบหลักของเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ คือมีความสำคัญมากในแง่พิธีกรรม กล่าวคือ ลาเป็นขนมสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการยกหฺมฺรับ เชื่อกันว่า ขนมลามีแหล่งกำเนิดจากลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีเหตุผลพอจะสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวนั้น คือ ประการที่หนึ่ง วัสดุที่นำมาประกอบกันเป็นขนมต่างๆ สำหรับใช้เป็นขนมเพื่อการทำบุญเดือนสิบส่วนใหญ่จะเป็นแป้งที่มาจากข้าวเจ้า โดยเฉพาะขนมลา ต้องใช้ข้าวสารเพื่อนำมาทำเป็นแป้งจำนวนมาก และพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปากพนังเป็นพื้นที่ที่ผลิตข้าวมากที่สุด จึงมีข้าวมากพอที่จะหามาทำขนมลาได้โดยไม่ยากลำบากประการที่สอง น้ำผึ้งหรือน้ำตาล เป็นวัสดุส่วนผสมที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของการทำขนมลา น้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากต้นตาลโตนด ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกตามคันนา ในบริเวณอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือน้ำผึ้งที่มาจากต้นจาก ซึ่งเป็นพืชที่พบมากในบริเวณลุ่มน้ำมากกว่าแหล่งอื่น โดยเฉพาะริมแม่น้ำปากพนัง และคลองสาขาที่มีมากกว่าร้อยสายนั้น เป็นแหล่งผลิตน้ำผึ้ง ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการผลิตกันมาก เช่นที่ตำบลขนาบนาค อำเภอปากพนัง ซึ่งมีการทำไร่จาก เพื่อผลิตน้ำผึ้งเป็นการเฉพาะ การทำขนมลา จำเป็นต้องมีน้ำผึ้งที่มากพอสำหรับรองรับการทอดลาของทุกบ้าน ดังนั้นในขั้นเตรียมการการทอดลา จะต้องแสวงหาน้ำผึ้งที่มีรสชาติหอม จากแหล่งน้ำผึ้งในท้องที่หมู่บ้านใกล้เคียงมาเตรียมไว้ให้เพียงพอสำหรับการทำขนมลา และการเก็บถนอมขนมลาไว้เป็นอาหาร ที่เรียกว่า “ทับลา”หรือ “ลาทับ” อีกด้วย จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องใช้น้ำผึ้งมากเช่นเดียวกัน ประการที่สาม น้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการเตรียมทอดลานั้น การจัดหาน้ำมันสำหรับทอดลาต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนวันทอดลาอย่างน้อย 15 วัน น้ำมันที่เลื่องชื่อที่ชาวบ้านจัดหา คือ น้ำมันที่มีการเคี่ยวจากมะพร้าว ที่มีความหอมและเป็นน้ำมันใหม่ โดยต้องใช้มะพร้าวจำนวนมาก และในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังเป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญมาแต่โบราณ จึงไม่ยากหรือเป็นอุปสรรคในการหามะพร้าวจำนวนมากมาเคี่ยวเป็นน้ำมัน สำหรับใช้ทอดขนมลา ประการที่สี่ การจัดทำขนมเดือนสิบเป็นขนมที่จัดทำในปริมาณมาก เป็นขนมที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้เป็นเวลานาน เพื่อเก็บไว้หรือถนอมอาหารไว้รับประทานในระหว่างฤดูกาลทำนาหรือปักดำกล้า ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำนา ประกอบกับฝนตกไม่เหมาะกับการเตรียมอาหาร ประการที่ห้า หากมีการแบ่งชั้นของขนมที่เป็นเอกลักษณ์นั้น ขนมลา คือความเป็นเอกของขนมที่ใช้ทำบุญเดือนสิบ ตามความรู้สึกของชาวบ้าน ด้วยความยากลำบากในกระบวนการผลิต และการเชื่อมโยงไปสู่มิติอื่นๆ เช่นการปฏิสัมพันธ์กันในทางสังคมวิทยา ขนมลา จึงเป็นผลผลิตจากการขัดเกลาทางสังคมที่ต้องถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ เพื่อให้มีการกระทำกันอย่างกว้างขวาง จากเหตุผลดังกล่าว จึงเชื่อได้ว่า การทำขนมลา น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง และปัจจุบันนี้ผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังยังคงรักษาการทำขนมลาในเทศกาลบุญสารทเดือนสิบกันอย่างพร้อมเพรียง ผู้คนที่มีความชำนาญการผลิตขนมลาที่มีชื่อเสียง รสชาติดีเป็นที่นิยมและกลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ของบางชุมชนในลุ่มน้ำปากพนัง ที่ทอดลาเพื่อขายในช่วงเทศกาลเดือนสิบ และกลายเป็นของฝากของที่ระลึกจากเมืองนครศรีธรรมราชมีบริการตลอดปี คือ ลาหอยราก ของบ้านหนึ่งในท้องที่ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ในอดีตเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่ผ่านมา ดิฉันยังจำได้ว่าเมื่อย่างเข้าเดือนสิบชาวบ้านแทบทุกบ้านจะเตรียมจัดทำขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ และขนมกงหรือขนมไข่ปลา กัน โดยเฉพาะขนมลา มีขั้นตอนในการทำที่ยุ่งยาก และไม่สามารถที่จะทำคนเดียวได้ ดังนั้น ญาติพี่น้องที่เป็นเครือญาติกันก็จะนัดรวมกันทำขนมลาพร้อมกัน หรือญาติพี่น้องก็จะมาช่วยกันทำขนมลาพลัดกันในแต่ละบ้าน เช่น วันนี้ช่วยบ้านนี้ อีกวันไปช่วยอีกบ้าน จนครบทุกบ้าน โดยจะเริ่มทำกันในช่วงก่อนถึงเทศกาลเดือนสิบ ประมาณ 7-10 วัน เมื่อได้ขนมลาแล้วก็จะนำไปแจกจ่ายให้กับ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และบุคคลที่เคารพนับถือ เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้นำขนมลาไปทำบุญที่วัดด้วย ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นประเพณีทุกปี แม้ปัจจุบันนี้สังคมมีความเปลี่ยนแปลงไปแต่ละครอบครัวต้องทำงานประจำนอกบ้านไม่ได้ทำขนมลาเองอย่างเช่นแต่ก่อน ประกอบกับปัจจุบันนี้มาการทำขนมลาขายกันอย่างแพร่หลายทั่วไป สามารถหาซื้อได้สะดวก แต่ก็ยังมีบ้างบ้านเช่นกันที่รักษาประเพณีนี้ไว้ ยังทำขนมลาเองในช่วงเทศกาลเดือนสิบเพื่อนำไปทำบุญที่วัด เพราะเชื่อว่า ตนได้ตั้งใจทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษด้วยความตั้งใจจริงๆ
ขั้นตอนการทำขนมลา
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตขนมลา
1. ข้าวเจ้าพันธ์พื้นเมือง
2. ข้าวเหนียว
3. น้ำตาลจาก หรือน้ำตาลโตนด สำหรับเคี่ยวทำน้ำผึ้ง
4. น้ำตาลทราย
5.
น้ำมันพืช ถ้าเป็นน้ำมันมะพร้าวจะดีที่สุด ชาวบ้านที่ทำขนมเองก็จะเริ่มเคี่ยวน้ำมันมะพร้าวเอง ซึ่งจะได้น้ำมันที่ใหม่ไม่มีกลิ่นหืน
6. ไข่แดง จะเป็นไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ ต้มให้สุก
ส่วนผสม
1. ข้าวสารเจ้า 48 กิโลกรัม
2. ข้าวสารเหนียว 16 กิโลกรัม
3. น้ำตาลทราย 20 กิโลกรัม
4. น้ำผึ้ง 1.5 ปีบ
อุปกรณ์การผลิต
1. กระทะใบใหญ่
2. เตาไฟ อาจจะเป็นเตาถ่าน หรือเตาแก๊สก็ได้
3. กะลาเจาะรูเล็กๆ หรือกระป๋องเจาะรู
4. ไม้ไผ่ใช้ทำไม้เขี่ยขนมลา
5. ไม้ตีน้ำมัน (ทำจากงวงตาล หรือกาบมะพร้าว)
6. ถาด
7. เครื่องโม่แป้ง
8. เครื่องนวดแป้ง
9. เครื่องหนีบแป้ง
10. ผ้ากรอง
11. กะละมัง,หม้อ
วิธีทำขนมลา
1. ขั้นเตรียมการ
ในการทำขนมลา มีขั้นตอนในการทำหลายขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นการเตรียมการ คือการเตรียม น้ำมันสำหรับทอดลา น้ำมันที่ดีที่สุดสำหรับการทอดขนมลา คือน้ำมันมะพร้าว จะต้องเป็นน้ำมันที่เคี่ยวใหม่ๆ ซึ่งชาวบ้านที่จะทำขนมลาต้องเตรียมการเคี่ยวมันก่อนถึงวันทอดลา อย่างน้อย 15 วัน และเตรียมน้ำผึ้งไว้ให้เรียบร้อยก่อน ปัจจุบัน น้ำผึ้งจะใช้โดยการเคี่ยวจากน้ำตาลปีบ ที่ทำจากตาลโตนด หรือทำจากต้นจาก ปัจจุบันน้ำตาลปีบนี้มีขายทั่วไปในท้องตลาด เมื่อเตรียมเครื่องปรุงได้ที่แล้ว ก็ถึงขั้นตอนของการเตรียมแป้ง
2.
ขั้นดำเนินการทำขนมลา
2.1 นำข้าวเจ้าผสมข้าวเหนียวในอัตราส่วน 3:1
ผสมให้เข้ากัน ใส่น้ำแช่ทิ้งไว้ 1 คืน
2.2
นำข้าวสารที่แช่น้ำแล้วมาล้างให้สะอาด
นำใส่ถุงผ้าหรือตะกร้าใช้ผ้าหรือพลาสติกคลุม
หมักทิ้งไว้ 3 คืน
2.3 เมื่อครบกำหนด นำข้าวสารมาล้างให้สะอาด
ไม่มีกลิ่น ตั้งทิ้งไว้จนสะเด็ดน้ำ
2.4 นำข้าวสารผสมน้ำแล้วนำไปบดให้ละเอียด
2.5 นำแป้งมากรองด้วยผ้าสะอาด 3 ชั้นเพื่อให้ได้แป้งที่ขาวสะอาดและละเอียด
2.6 ตักแป้งใส่ตะกร้าที่รองด้วยผ้าสะอาด ทิ้งไว้จนแป้งตกตะกอนรินน้ำใสออก
2.7 ห่อแป้งมัดให้แน่น นำไปใส่เครื่องหนีบแป้งให้แห้ง เพื่อไล่น้ำเปรี้ยวออก
2.8 นำแป้งที่แห้งแล้วไปตำให้ร่วน แล้วนำแป้งไปตีผสมน้ำผึ้งหรือน้ำตาลตีให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน แป้งจะมีลักษณะเหลวข้น แล้วลองชิมดูจนเป็นที่พอใจ รสจะออกหวานๆ แล้วลองเอามือจุ่มดูเมื่อเห็นว่าแป้งโรยได้ไม่ขาดสายก็ใช้ได้
2.9 นำแป้งที่ผสมแล้วใส่กะละมังแช่น้ำให้เย็น จึงนำไปทอด การทอดขนมลาต้องใช้กระทะขนาดใหญ่ เตาไฟใช้ได้ทั้งเตาแก๊สและเตาถ่าน แต่การใช้เตาแก๊สสามารถปรับระดับความร้อนได้ดีกว่า เมื่อเตรียมอุปกรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว นำกระทะตั้งบนไฟอ่อนๆ เอาน้ำมันผสมไข่แดงเช็ดกระทะให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้แป้งที่โรยลงไปติดกระทะ
2.10 นำแป้งใส่กะลาที่เจาะรูเล็กๆ หรือกระป๋องเจาะรูเล็กๆ เมื่อกระทะร้อนได้ที่แล้วจึงนำแป้งไปโรยลงกระทะ โรยวนไปวนมาหลาย ๆครั้ง อย่าให้หนาหรือบางจนเกินไป
2.11 เมื่อสุกใช้ไม้ไผ่เล็กบางพับขนมลา หรือยกขึ้นจากกระทะวางซ้อนกัน
คุณค่าและความสำคัญของขนมลา
1. ด้านความเชื่อและพิธีกรรม
ด้วยขนมลาเป็นขนมในพิธีกรรมบุญสารทเดือนสิบ ที่ทำขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว จึงเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในด้านต่าง ๆ เช่น
1.1 ความเชื่อในเรื่องเปรต
“เปรต” ความเชื่อที่สำคัญที่สุด เพราะจุดหมายสำคัญของการทำบุญ คือทำบุญเพื่อเปรต โดยมีความเชื่อที่ดำเนินไปบนพื้นฐานความเชื่อเรื่องกรรม สวรรค์ นรก และวิญญาณ โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์ย่อมเป็นไปตามกรรม ผู้ที่ทำดี เมื่อตายไปย่อมไปสู่สุคติภูมิ ได้รับความสุขสบายบนสวรรค์วิมานตามผลแห่งกรรมดีนั้น ส่วนผู้ที่ทำชั่ว เมื่อตายไปย่อมไปสู่ทุคติภูมิ มีแต่ความทุกข์ยากลำบากตกอยู่ในนรก หรือเป็นเปรต เสวยทุกข์ตามผลกรรมที่ก่อไว้ จึงเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณทุกข์ยากเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า “เปรต” คำว่า”เปรต” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2493 ให้ความหมายคำว่า “เปรต” แปลว่า “สัตว์เกิดในอบายภูมิพวกหนึ่ง ผู้ตายไปแล้วมีชนิดหนึ่งว่ากันว่า มีรูปร่างสูงโย่งเย่ง ผอมโซ คอยาว กินเลือดกินหนองเป็นอาหาร ปากเท่ารูเข็ม กินน้ำทีละหยด กินข้าวทีละเม็ด ความเชื่อเรื่องเปรต จึงเป็นความเชื่อที่ฝังลึกในความรู้สึกของคนนครศรีธรรมราช ที่แสดงออกในพิธีกรรม งานบุญ เปรตจึงเป็นพลังสำคัญยิ่งที่กำหนดแนวทาง รูปแบบประเพณีสารทเดือนสิบและการทำขนมลา เพื่อใช้จัดหฺมฺรับไปทำบุญที่วัด ซึ่งมีลูกหลานชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชบางคน มีความเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำขนมด้วยตนเอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการที่จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพชนดังกล่าว จะได้บุญมาก และบรรพชนก็จะให้พรมากด้วย ซึ่งเป็นความสุขทางใจอย่างหนึ่ง
1.2
ความเชื่อในเรื่อง หฺมฺรับ
หฺมฺรับ หมายถึง สำรับ การจัดหฺมฺรับส่วนใหญ่
จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เพราะสะดวกในการจัดและการเก็บ
รักษาของผู้รับ โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง กะละมัง ถัง ถาด
วิธีจัดส่วนใหญ่จะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง ตามด้วยเครื่องปรุงพวก
ของแห้งที่ใช้ในครัวเรือน ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง ยารักษาโรค
หมากพลูและของใช้จำเป็นประจำวัน และชั้นบนสุดจะเป็น ขนมพอง รูปที่ 12 หฺมฺรับ
ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ขนมไข่ปลา) ซึ่งทั้งหมดนี้จัดบนพื้นฐานความเชื่อที่เป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั่วไป แต่มีการเน้นพิเศษสำหรับของที่บรรพบุรุษชอบ และนิยมในท้องถิ่น
จำรัส เพชรทับ กล่าวไว้ใน “ความเชื่อบุญสารทเดือนสิบ” วารสารเดือนสิบ” 41 ว่า หัวใจของหฺมฺรับ ที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้ มี 5 อย่าง (บางแห่งมี 6 อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรงลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น และควรมีสำหรับเปรต คือ
ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนเรือแพ ที่จะใช้
ข้ามห้วงมหรรณพ หรือวัฏสงสาร ด้วยขนมพองนั้นแผ่ดังแพ
มีน้ำหนักเบา ย่อมลอยน้ำและขี่ข้ามได้
ขนมลา (ลาแผ่น) เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ
เครื่องนุ่งห่ม ด้วยขนมลา มีรูปร่างดังผ้าถักทอ พับแผ่เป็นผืนได้
ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้าสำหรับ
ใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์ ด้วยขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า
อันเป็นการละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน
ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ยสำหรับใช้สอย
ด้วยรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย
ขนมกง(ไข่ปลา) เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ รูปที่ 15 ขนมดีซำ
ด้วยมีรูปทรงอย่างกำไล แหวน
ลาลอยมัน (ขนมรังนก) เป็นสัญลักษณ์แทนฟูกหมอน
ซึ่งมีในบางท้องถิ่น นอกจากนี้ก็ยังมีดอกไม้ ธูปเทียน เพื่อบูชาพระ
โดยจัดแต่งอย่างสวยงาม
ความเชื่อเรื่องขนมที่เป็นหัวใจของหฺมฺรับ เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับสมัย ท้องถิ่น และหลักศาสนา โดยบางแห่งอาศัยการเปรียบเทียบตีความเพื่อเข้าใจหลักธรรม เช่น การใช้ขนมพองเป็นแพข้ามวัฏสงสาร พุทธศาสนาถือว่าผู้จะข้ามวัฏสงสารได้จะต้องหลุดพ้นจากกิเลส การใช้ขนมพองเป็นพาหนะ จึงน่าจะเป็นคติที่ว่า ขนมพองนั้นเบา ประดุจคนที่เบาจากกิเลสย่อมสามารถข้ามพ้นวัฏสงสารได้
จากความเชื่อดังกล่าวนั้นเมื่อถึงวันทำบุญเดือนสิบ ชาวนครศรีธรรมราชไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านเกิด คือเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อทำบุญตายาย หรือทำบุญให้เปรตบรรพชน และจัดอาหารรวมทั้งสิ่งของให้ผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ นี่คือ การแสดงความกตัญญูของชาวนครศรีธรรมราช ความกตัญญูเป็นคุณธรรม จริยธรรมหนึ่งในหลายประการ ใครปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง และทำมาค้าขึ้น เพราะจะได้พรจากเปรตบรรพชน จากผู้มีพระคุณที่มีชีวิตอยู่ และจากพระภิกษุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การชิงเปรต เชื่อว่าใครได้ร่วมชิงเปรตและได้กินอาหารที่ตั้งเปรต จะได้รับคำอวยพรจากเปรตบรรพชนเป็นพิเศษ เพราะเปรตบรรพชนเห็นว่าไม่รังเกียจท่าน การชิงเปรตนอกจากได้รับคำอวยพรดังกล่าวแล้ว ยังสนุกสนาน และเกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในวงศาคณาญาติ และเพื่อนในชุมชน
2. ด้านสังคม หรือการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน
ในการทำขนมลามีขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก เช่น ต้องหมักแป้ง ต้องโม่แป้ง นำแป้งไปทับหรือหีบแป้งให้แห้ง แล้วนำแป้งมาตำให้ร่วม นำแป้งไปเคล้ากับน้ำผึ้ง เมื่อนำแป้งไปเคล้ากับน้ำผึ้งจนได้ที่แล้วก็ต้องคอยตีแป้งอยู่ตลอดเวลาเพื่อไปให้แป้งตกตะกอน ดังนั้น จึงต้องใช้คนหลายคนช่วยกันทำ ชาวบ้านเมื่อจะทำขนมลาก็จะต้องนัดวันทำขนมลาในแต่ละบ้านไม่ให้ตรงกัน เพื่อจะได้มาช่วยกันทำ เพราะการทำขนมลาของชาวบ้านไม่ได้ทำเพียงแค่นำไปทำบุญเท่านั้น แต่ละบ้านจะทำขนมลาเก็บไว้กินในฤดูทำนาที่จะถึงด้วย ดังนั้นการทำขนมลาชาวบ้านก็จะรวมตัวกันทำและช่วยเหลือกัน ญาติพี่น้องหรือเพื่อบ้านใกล้เคียงก็จะมาช่วยกันอันเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความรักความสามัคคีกัน อันก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็งสร้างสันติสุขในชุมชน
3. ด้านการประกอบอาชีพ
ขนมลา เป็นขนมในพิธีกรรมในเทศกาลเดือนสิบ เป็นขนมที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราชเป็นขนมที่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชจะซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกติดไม้ติดมือไปด้วย ด้วยขนมลาเป็นขนมที่มีรสชาติอร่อย เก็บไว้ได้นาน ปัจจุบันนี้การทำขนมลารวมกันของญาติพี่น้องหรือในกลุ่มเพื่อนบ้านมีน้อยมาก มีผู้ทำขนมลาขายที่มีชื่อเสียงที่พูดกันติดปากว่าเป็นขนมลาที่มีรสชาติอร่อยคือ“ลาหอยราก” บ้านศรีสมบูรณ์ ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านจะทำขนมลาขายเป็นอาชีพหลัก ผลิตส่งขายในที่ต่าง ๆ ทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด และจะทำจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเทศกาลเดือนสิบ อันเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังทำเป็นขนมลาพับ หรือแปรรูปเป็น ขนมลาชนิดต่าง ๆ วางขายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวโดยทั่วไปอีกด้วย
ภูมิปัญญาที่สั่งสมเกี่ยวกับการทำขนมลาที่เกี่ยวของกับเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ
1. ภูมิปัญญาในเรื่องการปกครองคน
การทำขนมลาเป็นภูมิปัญญาในการปกครองคนของบรรพบุรุษของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชในอดีตโดยการนำเอาศาสนามาสอนคนให้รู้กตญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ เคารพความอาวุโส อันเป็นการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้มีขึ้นในหมู่ลูกหลานของตน โดยการสร้างความเชื่อขึ้นมาว่าคนเราเมื่อตายไปแล้ว ก็ยังคอยปกป้องคุ้มครองลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ใดปฏิบัติดีต่อบรรพบุรุษทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังมีชีวิตอยู่บุคคลนั้นก็จะได้รับคำอวยพรจากบรรพชน ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีทุกข์ภัยเข้ามาเบียดเบียนได้ นี่คือจิตวิทยาในการปกครองคนหมู่มากให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เป็นการสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะเนื่องจากการทำขนมลาแต่ละบ้านจะทำกันเป็นจำนวนมาก และขั้นตอนในการทำก็มีความยุ่งยากต้องใช้ความรักความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันงานจึงจะสำเร็จลงได้
2. ภูมิปัญญาในการฝึกสมาธิของคน
เนื่องการการทำขนมลามีขั้นตอนในการทอดลา คือการนำแป้งใส่กะลามะพร้าวที่เจาะรูเล็กให้แป้งไหลลงตามรูอย่างช้าๆ อย่างไม่ขาดสาย ดังนั้นการทอดขนมลาการวนรอบกระทะเพื่อให้แป้งลงไปในกระทะอย่างสม่ำเสมอ ถ้าผู้ทอดลาวนกะลาหรือกระป๋องช้าเกินไปทำให้แป้งลงมากในแต่ละจุดเส้นขนมที่ได้ก็จะหนาไม่น่ากิน และดูไม่สวยงาม จึงต้องใช้สมาธิ ต้องมีสติอยู่เสมอ กะช่วงจังหวะให้ดีให้เหมาะสมจึงจะได้ขนมลาที่ดีสวยงามเส้นเล็กตามที่ต้องการ
3. ภูมิปัญญาในการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น
ด้วยในช่วงเทศกาลบุญสารทเดือนสิบ ผู้เฒ่าผู้แก่จะสอนลูกหลานโดยใช้ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อในเรื่องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ผู้ใดไม่มาทำบุญในวันแรม 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือนสิบ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วก็จะได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส พลอยทำให้ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่พลอยได้รับความทุกข์ยากไปด้วย ดังนั้นเมื่อถึงวันทำบุญเดือนสิบลูกหลานไม่ว่าจะไปอยู่ในที่ใดก็จะกลับบ้านเกิดถิ่นเดิม อันเป็นการมารวมญาติกันครั้งหนึ่งในรอบปี ปู่ย่า ตายาย คนเฒ่าคนแก่ก็จะมีความสุขที่มีลูกหลานมาเยี่ยมมากมายในช่วงเทศกาลทำบุญเดือนสิบนี้ อันเป็นการเสริมสร้างครอบครัวให้มีความรักความอบอุ่นมีความเอื้ออาทรต่อกันในระหว่างครอบครัวและหมู่ญาติ
4. ภูมิปัญญาในการถนอมอาหาร
การทำขนมลาที่แต่ละบ้านทำกันเป็นจำนวนมาก นอกจากเพื่อการนำไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วและนำไปแจกจ่ายให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเคารพนับถือแล้ว ยังเหลือเก็บไว้เป็นอาหารในยามที่ไปทำนา เพราะในช่วงฤดูการทำนาเป็นช่วงฤดูฝนการประกอบอาหารทำได้ลำบากเพราะในอดีต ในการประกอบอาหารต้องใช้ไม้ฟืนในการประกอบอาหาร ในฤดูฝนไม้ฟืนจะชื้นก่อไฟติดยากต้องเสียเวลาในการปรุงอาหาร ประกอบกับไม่มีเวลาในการประกอบอาหารเนื่องจากทุกคนในบ้านต้องไปช่วยกันทำนากันหมด ก็ใช้ขนมลานี่แหละกินประทังความหิวไปก่อนได้จนกว่าจะเสร็จภารกิจมาประกอบอาหารทานได้ และการที่คนนำขนมลาไปทำบุญที่วัดมากๆ ทางวัดได้เก็บขนมลาเหล่านั้นไว้ถวายพระได้เช่นกัน ในการถนอมอาหารไว้กินนานนั้นใช้วิธีการ โดยการนำขนมลามาม้วนให้กลมแล้วใช้น้ำผึ้งหรือน้ำตาลราดลงไปเก็บใส่โอ่งหรือถังไว้ สามารถเก็บไว้ได้นานตลอดฤดูฝน หรือตลอดปีได้ ซึ่งเรียกว่า “ลาอับ”หรือ”ลาพับ” หรือในบางแห่งการใช้น้ำตาลทรายละเอียดโรยให้ทั่วแผ่นขนมลาแล้วม้วนเก็บก็ได้ หรือนำไปตากแดดให้กรอบก่อนแล้วจึงเก็บ นำมาทานใหม่จะอร่อยมาก และหวานจัด ใช้ทานแทนขนมหวานได้ดีทีเดียว
การถ่ายทอดความรู้
การถ่ายทอดความรู้ในการทำขนมลามายังลูกหลานของบรรพบุรุษในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ในอดีต ในการทำขนมลาจำเป็นต้องใช้คนมาก ดังนั้นในการมาช่วยกันทำขนมลูกหลานที่ย่างเข้าวัยรุ่น หรือมีอายุประมาณ 10- 12 ปี ก็จะมาวิ่งเล่นหรือมาช่วยเป็นลูกมือในการทำขนม ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำขนมลาไปโดยปริยาย โดยผู้ใหญ่จะสอนจะแนะนำให้ทำไปที่ละอย่างจนสามารถเรียนรู้ขั้นตอนการทำขนมได้ทุกขั้นตอนโดยมีผู้ใหญ่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาการทำขนมลาในปัจจุบัน
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าชาวบ้านโดยทั่วไป ไม่ได้ดำเนินการทำขนมลาเองจะหาซื้อขนมลาที่มีขายตามท้องตลาดไปใช้ทำบุญจึงซื้อแต่เพียงเล็กน้อยแค่พอที่จะนำไปทำบุญที่วัดและนำไปเป็นของฝากแก่ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือเท่านั้น แต่ประเพณีบุญสารทเดือนสิบก็ยังปฏิบัติเป็นประเพณีสืบทอดต่อกันมาทุกปี ในการอนุรักษ์ฟืนฟูการทำขนมลาก็มีการดำเนินการกันอยู่ โดยสถานศึกษาก็จะให้นักเรียนเก็บข้อมูลภูมิปัญญานี้ และมีการสาธิตการทำขนมลาในทุกพื้นที่ ที่มีงานประจำปี และมีการปรับปรุงพัฒนาในการทำขนมลาให้ง่ายขึ้นโดยดัดแปลงแปรรูปเป็นอาหารว่างที่วางขายตามสถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านขายขนมโดยทั่วไป อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่ใช้ในการทำขนมก็พัฒนาขึ้น เช่น การบดแป้ง ก็มีเครื่องโม่แป้งสำเร็จรูปใช้แล้ว การปีบแป้งให้แห้งก็มีเครื่องปีบแป้งทำให้สะดวกในการทำมากขึ้น ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่ต้องใช้แรงคนในการโม่แป้ง และต้องหาสิ่งของหนักๆมาวางทับถุงแป้งเพื่อให้แป้งแห้งซึ่งต้องใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันสามารถทำได้เพียงครอบครัวเดียวไม่ต้องใช้คนช่วยมากเหมือนในอดีต เพราะมีเครื่องจักรใช้ช่วยทุ่นแรงได้ ปัจจุบันมีการทำกันเป็นอาชีพ โดยทำขายตลอดทั้งปี สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง เช่นที่บ้านหอยราก ทำเป็นอาชีพ จนได้รับรองมาตรฐานจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นสินค้า OTOP ระดับสี่ดาว ห้าดาวไปแล้ว อันเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับท้องถิ่น ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปได้รู้จักขนมลาอย่างแพร่หลายมากขึ้น
วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น